อัพเดต
อุตสาหกรรม สีเขียว

     ที่มาของโครงการ อุตสาหกรรมสีเขียวนะครับ ชื่อเต็ม คือ โครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว  สืบเนื่องจากที่ประเทศไทยมีสัตยาบรรณที่ไปร่วมกับนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปฏิญญาโจฮันเนสเบิร์ก ปฏิญญามนิลา ต่อเนื่องกันมาจนประมาณปี 25532-2553 เป็นช่วงที่ทาง UNIDO (องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ) ก็ได้มีการประดิษฐ์ คำที่เรียกว่า Green Industry ขึ้นมา

Green Industry ในภาพของ UNIDO  เป็นภาพที่ออกในเชิงของการกำหนดนโยบาย ของแต่ละประเทศ เพื่อให้แต่ละประเทศนั้นๆ มุ่งไปสู่ประเทศที่เรียกว่าสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)

ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับเอาหลักการ Green Industry  ของ UNIDO มา เพื่อสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรม จึงมีการจัดตั้งทีมงานวิชาการขึ้นมา เพื่อผลักดัน Green Industry ไปสู่การปฏิบัติ จึงเกิดโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวขึ้น มีการกำหนดนิยามและแนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้สถานประกอบการสามารถดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนไปสู่สิ่งที่อยากจะให้เกิดเป็นภาพจริงในอนาคต

นิยามของ อุตสาหกรรมสีเขียวของประเทศไทย ตั้งอยู่บน 2 เสาหลัก หรือ 2 องค์ประกอบ คือ
1. เป็นเรื่องของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เราหยิบยืมเรื่องของกระบวนการพัฒนา การบริหารจัดการเรื่องคุณภาพ (Continuous Improvement) หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Kaizen  คือแนวทางที่คนที่ทำดีอยู่แล้วก็ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น สามารถลดพลังงานได้แล้วในปีนี้ ในปีต่อไปก็ต้องลดลงได้อีก กระบวนการพัฒนาต้องไม่อยู่กับที่ เช่น เราทำเรื่องกระบวนการ 3Rs แล้ว เราก็ต้องขยายความ3Rs ไปสู่ Supply Chain ด้วย 

2. ความรับผิดชอบต่อสังคม มาจากคำว่า Corporate Social Responsibility มุ่งเน้นการสร้างความสมดุลในสามมิติ คือ มิติเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คือ ทำอย่างไรให้สถานประกอบการมีกำไรอยู่ได้ มีกำไรที่จะพัฒนาองค์กรให้เติบโตไปแข่งกับคนอื่นได้ และการเติบโตขององค์กรจะต้องไม่ไปทำลายสิ่งแวดล้อม จะต้องไม่ไปสร้างปัญหาให้กับพนักงาน ไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม ไม่สร้างปัญหาให้กับคน พูดง่ายๆ คือ การทำงานต้องมีความโปร่งใสยุติธรรม ไม่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์บนความทุกข์ยากของประชาชนโดยรอบหน่วยงาน หรือคนที่เกี่ยวข้อง

องค์ประกอบ 2 ข้อตรงนี้เอง มุ่งไปสู่ความยั่งยืน

นอกจากนี้ สิ่งที่องค์กรทำดีภายในแล้ว จะต้องสะท้อนออกมาภายนอกด้วย นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมสีเขียว ไม่ใช่แค่จากบริษัท A จบที่บริษัท A แต่เราต้องดึงเอา Supply Chain เข้ามาร่วมด้วย เพราะฉะนั้น คำนิยามของอุตสาหกรรมสีเขียวนั้น จะต้องเป็นสถานประกอบการ ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีความรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยดึงเอาโซ่อุปทานของตัวเองเข้ามาร่วมในการพัฒนาด้วย เพื่อให้เติบโตหรือก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

นิยามดังกล่าวบ่งบอกว่าเราต้องมีการพัฒนาสถานประกอบการเป็นระดับ เราจึงออกแบบออกมาเป็น 5 ระดับด้วยกัน 
1. Green Commitment  (ความมุ่งมั่นสีเขียว) คือ ในระดับที่องค์กรมีความมุ่งมั่นจะพัฒนาสถานประกอบการให้เป็นสถานประกอบการอุตสาหกรรมสีเขียว ก็ให้องค์กรเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร และมีการประกาศให้คนในองค์กรได้รับทราบพร้อมๆ กัน รวมทั้งมีแผนหรือแนวทางในการปรับตัวขององค์กรที่จะมุ่งสู่เป้าหมายด้วย

2. Green Activity  (ปฏิบัติการสีเขียว) คือ การแปลงแผนในขั้นตอนที่ 1 ไปสู่การปฏิบัติ ทำให้เป็นรูปธรรม มีตัวชี้วัด สามารถวัดผลได้ เช่น เขาเขียนแผนว่าปีนี้จะทำเรื่องของกระบวนการ 3Rs และจะเน้นในเรื่องของ R ตัวแรก คือ Reduce ลดการใช้น้ำ พลังงาน กระดาษ และเมื่อทำได้ คือ ผ่านระดับที่ 2


3. Green System (ระบบสีเขียว) เป็นระดับที่มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยมีความมุ่งหมายคือ ทำทุกอย่างให้เป็นระบบ จะมี ISO 14001 มาเป็นเครื่องมือในการประเมินสถานประกอบการ เมื่อสถานประกอบการผ่านเกณฑ์การประเมินตาม ISO 14001 ก็คือ การบรรลุขั้นตอนที่ 3

4. Green Culture (วัฒนธรรมสีเขียว) คือ การพัฒนาต่อเนื่องขึ้นไปอีก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนในองค์กรมีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานทุกคนในองค์กร ต้องรู้นโยบาย และปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน มีทัศนคติเหมือนกัน โดยมี ISO 26000 มาเป็นเครื่องมือนำทางเพื่อให้สถานประกอบการบรรลุในขั้นตอนที่ 4 

5. Green Network (เครือข่ายสีเขียว) เป็นระดับเข้มข้นสูงสุด คือ เมื่อองค์กรมีความเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ก็ต้องดำเนินการส่งต่ออุตสาหกรรมสีเขียวไปยัง Supplier ของตัวเองด้วย อย่างน้อยให้ Supplier ขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่ 2 ขึ้นไป ดังนั้นจะกลายเป็นเขียวไปทั้งเครือข่าย